1

 

วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เวลา 10.00 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ และภาคีเครือข่ายรวม 17 หน่วยงาน ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) การกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) ของประเทศไทย ณ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรุงเทพฯ พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ธนวัฒน์ พันธุ์สนิท ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ผู้แทนกองสารวัตรและกักกัน ผู้แทนองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ กรมการสัตว์ทหารบก หน่วยม้าทรงประจำพระองค์ฯ กองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาม้าแข่งไทย สมาคมกีฬาขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย นายกสัตวแพทยสภา ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย มูลนิธิม้าไทย และชมรมสัตวแพทย์บำบัดโรคม้า
     การลงนามใน MOU เพื่อเป็นการยืนยันความร่วมมือและบูรณาการระหว่างหน่วยงานในการสนับสนุนกิจกรรมดำเนินการมาตรการควบคุม
 และกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าให้หมดไปจากประเทศไทย ทั้งด้านการสร้างความตระหนักในการร่วมมือด้านนโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม บูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในด้านทรัพยากร บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ และด้านงบประมาณให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้ประเทศไทยได้รับการรับรองเป็นประเทศที่ปลอดจากโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าจาก OIE ภายในปี 2565 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 
     ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินการตามเป้าหมายให้สำเร็จคือ ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของความร่วมมือ PPP กรมปศุสัตว์จึงได้จัดพิธีลงนามร่วมกันในเอกสารบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ขึ้น เพื่อเป็นการยืนยันความร่วมมือกันของภาคีเครือข่ายแต่ละภาคส่วนจะปฏิบัติตามกรอบเวลา 3 ระยะคือ ระยะเผชิญเหตุ ระยะเฝ้าระวังและป้องกันการอุบัติซ้ำ และระยะขอคืนสภาพปลอดโรค AHS ของประเทศไทยจาก OIE และร่วมบูรณาการความรับผิดชอบตามเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสือฉบับนี้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ทั้งในด้านนโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลประชากรม้า การขึ้นทะเบียน และความร่วมมือด้านวิชาการองค์ความรู้ในการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
     ทั้งนี้ เพื่อยืนยันความร่วมมือที่ได้รับจากทุกภาคส่วนจะดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรมที่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถกำจัดโรคนี้ให้หมดไปจากประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยได้รับการรับรองให้เป็นประเทศที่ปลอดจากโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าจาก OIE ภายในปี 2565 ได้ตามเป้าหมายต่อไป  
ภาพ ธงชัย สาลี สลก /ข่าว คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์
 
 
vdo สัมภาษณ์อธิบดีกรมปศุสัตว์ คลิก