เว็บไซต์กรมปศุสัตว์เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Follow us on Facebook Follow us on YouTube 

A- A A+

 
             นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ว่าปัจจุบันยังไม่พบโรคนี้ในประเทศไทย โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างระดมสรรพกำลัง ร่วมกันบูรณาการในการป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ทั้งการกำชับตรวจสอบใน 50 ด่านทั่วประเทศ และการตรวจเข้มตามท่าอากาศยานทุกแห่ง ป้องกันนักท่องเที่ยวนำผลิตภัณฑ์หมูเข้ามาในไทย รวมทั้งการตั้ง War Room ของภาครัฐและผู้เลี้ยงสุกร เพื่อตรวจหาจุดเสี่ยง ASF ทั้งในส่วนจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้โรคนี้เข้ามาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรตลอดห่วงโซ่ และเศรษฐกิจของประเทศได้ 
 
 

ขอย้ำว่าโรค ASF เกิดเฉพาะในหมูเท่านั้น ไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์ชนิดอื่น คนจึงสามารถบริโภคหมูได้อย่างปลอดภัย 100% ขอให้เกษตรกรและประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่ต้องตระหนักและช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังอย่าให้มีการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์หมูจากทุกประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวและว่า

ขณะนี้ กรมปศุสัตว์ได้รับข้อมูลจากผู้หวังดีแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น “DLD4.0” ว่ามีข่าวปลอมเกี่ยวกับASF ส่งต่อกันทางโซเชียลในเฟสบุ๊คและไลน์ ซึ่งต้นเรื่องมาจากประเทศเวียดนาม โดยกระทรวงการสื่อสารเวียดนาม ออกประกาศว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ เนื่องจากทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เกิดความหวั่นวิตก กรมปศุสัตว์จึงขอเตือนให้หยุดแชร์ข่าวหรือข้อมูลที่สร้างความแตกตื่นในสังคมวงกว้าง ที่ส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภค และมีผลกระทบร้ายแรงต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของไทย ที่มีมาตรฐานการผลิต   ในระดับสากล ผู้นำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560  มีโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ./

----------------------------

ข่าว/ข้อมูล : คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (มีนาคม 2562)

วันที่ 6 มีนาคม 2562 เวลา 13.30 น.
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานพิธีปล่อยแถวเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษกว่า 100 นาย เข้าปฏิบัติงานตรวจค้นจับกุมการลักลอบนำเข้าสัตว์ – ซากสัตว์ ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคอีสาน เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดสัตว์ชนิดอหิวาต์แอฟริกาสุกร (African Swine Fever : ASF) พร้อมด้วยปศุสัตว์เขต 1 ปศุสัตว์จังหวัดปทุมธานี ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ เลขานุการกรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร (African Swine Fever : ASF) เป็นโรคระบาดสำคัญที่เกิดกับสุกร ไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษา ตัวเชื้อทนต่อสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิ หากสุกรติดโรคแล้วจะมีอัตราการป่วยและการตายสูง ปัจจุบันมีรายงานการเกิดโรคในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน พบการระบาดของโรคอย่างรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายกับธุรกิจการเลี้ยงสุกรของจีนอย่างมหาศาล ล่าสุดมีรายงานการเกิดโรคที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยตรวจพบการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกรที่ผลิตจากประเทศเวียดนามโดยผ่านประเทศลาวเข้ามาทางจังหวัดนครพนม จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมกับด่านกักกันสัตว์ในพื้นที่ เข้าปฏิบัติงานตรวจค้นจับกุมการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะสุกร ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนที่ติดกับประเทศลาว ได้แก่ เลย นครพนม มุกดาหาร หนองคาย และอุบลราชธานี ปฏิบัติงานลาดตระเวน ตรวจค้นจับกุมการลักลอบนำเข้าสัตว์ - ซากสัตว์ บริเวณจุดผ่านแดนถาวร (ท่าเรือ สะพานมิตรภาพ รถไฟ) จุดผ่านแดนชั่วคราว และช่องทางธรรมชาติ ตรวจสอบการเคลื่อนย้ายและการค้าสัตว์ - ซากสัตว์ตามตลาดในพื้นที่ตลอดแนวชายแดนไทย – ลาว
กรมปศุสัตว์มีความตระหนัก และให้ความสำคัญเป็นอย่างสูงในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร โดยได้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ ขึ้น ซึ่งการตรวจค้นจับกุมการลักลอบนำเข้าสัตว์ - ซากสัตว์ จากต่างประเทศถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สำคัญในการป้องกันโรคดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรและภาคธุรกิจการเลี้ยงสุกรของประเทศไทย หากต้องการแจ้งเบาะแสการลักลอบนำเข้าสัตว์ - ซากสัตว์ ติดต่อกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ โทรศัพท์ 025013473-5 
ณ ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์ ปทุมธานี
 



 

อธิบดีกรมปศุสัตว์แจ้งเตือนทั่วประเทศยกระดับการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) แม้ไม่ติดต่อสู่คน แต่สุกรที่ติดเชื้อมีอัตราป่วย-ตายสูง เชื้อทนทานในสภาพแวดล้อม กำจัดได้ยาก ไม่มีวัคซีนป้องกันและยาในการรักษา ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวม

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากการรายงานของคณะกรรมการเกษตรไต้หวัน (Council of Agriculture : COA) ว่ามีการตรวจพบการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในผลิตภัณฑ์จากสุกรที่นำเข้ามาจากประเทศเวียดนามเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 แม้ว่ายังไม่มีการรายงานพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเวียดนาม

อย่างไรก็ตามจากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของ Mr. Phung Duc Tien รองปลัดกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของประเทศเวียดนามได้เปิดเผยว่าปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรบริเวณชายแดนระหว่างจีนและเวียดนามทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างรุนแรงในประเทศเวียดนาม ประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์- ซากสัตว์ภายในภูมิภาคอาเซียน และเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรปนเปื้อนมากับคนและอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุกเพื่อการบริโภค จึงได้แจ้งเตือนให้จังหวัดตามแนวชายแดนที่มีความเสี่ยงสูงประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

อีกทั้งได้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (war room) ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคเพื่อเตรียมความพร้อม

ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สำหรับความก้าวหน้าของการยกระดับมาตรการหรือแนวทางการปฏิบัติในการป้องกันควบคุมโรคให้เป็นวาระแห่งชาติได้รับความเห็นชอบจากนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจากรายงานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) พบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเกิดการระบาดใน 16 ประเทศ แบ่งเป็นทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ ทวีปยุโรป 10 ประเทศและทวีปเอเชีย 2 ประเทศ คือประเทศจีนและมองโกเลีย (ยังไม่นับรวมเวียดนาม) สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของโรคดังกล่าวนี้ พร้อมทั้งได้ขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพและสมาคมต่างๆ รวมทั้งพี่น้องเกษตรกรที่ได้มีส่วนร่วมและร่วมแรงร่วมใจกันในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพทำให้ประเทศไทยไม่มีการระบาดของโรคดังกล่าวในตอนนี้

 

อย่างไรก็ตามใคร่ขอความร่วมมือในกรณีผู้ที่เดินทางไปศึกษาดูงานหรือไปทำงานในฟาร์มสุกรในประเทศที่เกิดการระบาดและมีความเสี่ยงสูงที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เมื่อเดินทางกลับขอให้งดเข้าฟาร์มเลี้ยงสุกรไม่น้อยกว่า 5 วัน พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัดและผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม โรงอาหาร สถานประกอบเลี้ยง ให้งดจำหน่าย จ่าย แจกเศษอาหารเหลือจากการรับประทานให้ผู้ที่นำไปเลี้ยงสุกรเพื่อป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าว

ท้ายที่สุดนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ขอให้เกษตรกรอย่าได้ตระหนก และขอให้มั่นใจในการดำเนินงานที่เข้มงวดของปศุสัตว์ในการป้องกันโรคไม่ให้เข้ามาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรของประเทศไทย รวมทั้งขอย้ำให้เกษตรกรยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์มตามมาตรฐาน GAP และหากเป็นรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม และงดเว้นการนำอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาทีมาเลี้ยงสุกร

นอกจากนี้ให้สังเกตอาการสุกรอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดงและต่อมาเป็นสีเขียวคล้ำ พบภาวะแท้งในแม่สุกรและมีจำนวนสุกรตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ call center 063-225-6888 หรือที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์

Page 2 of 2