2565 02 28 001

วันนี้ (วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565) นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้การต้อนรับ นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมคณะกรรมการสมาคมฯ และคณะทำงานของกรมปศุสัตว์ ร่วมหารือในประเด็นการพัฒนาการเลี้ยงสุกรของประเทศไทยในอนาคต และแนวทางการฟื้นฟูอาชีพผู้เลี้ยงสุกรรายเล็กและรายย่อย

อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า กรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้หารือร่วมกันถึงแนวทางบูรณาการความร่วมมือในการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อกำหนดแนวทางฟื้นฟูอาชีพผู้เลี้ยงสุกรรายเล็กและรายย่อย และการใช้ระบบประกันภัยเพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ และรับทราบสภาพปัญหาการผลิตสุกรที่ต้องประสบกับภาวะต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งข้อมูลรายงานความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน ASF ที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างทดสอบ และร่วมรับทราบแนวทางการจัดทำ Sandbox ของกรมปศุสัตว์ รวมถึงการจัดทำคู่มือการกลับเข้ามาเลี้ยงสุกรใหม่ของเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการเลี้ยงมากขึ้น

ทั้งนี้ Pig Sandbox จะเป็นเขตพื้นที่ควบคุมพิเศษ เพื่อนำร่อง ส่งเสริม-ฟื้นฟูการผลิต และควบคุมป้องกันโรคระบาดในสุกร ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ ประกอบด้วย เขตพื้นที่นำร่องและพื้นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) เช่น ภาคเอกชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคการเงินการธนาคาร ภาคการขนส่ง ฯลฯ มาตรการทางกฎหมายและการสนับสนุนด้านอื่นๆ โครงการ/กิจกรรมสำคัญที่ต้องดำเนินการ กรอบเวลาและงบประมาณ และคณะทำงานขับเคลื่อนทั้งส่วนกลางและในพื้นที่

สำหรับแนวทางการส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายเล็กและเกษตรกรรายย่อย โดยต้องเป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม มีการดำเนินการโดยใช้หลัก 3S คือ Scan พื้นที่ภายใต้มาตรการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดพื้นที่นำร่อง (Pig Sandbox) Screen คน คอก เครื่องมือ อุปกรณ์ ที่มีความพร้อมและเหมาะสม และ Support อุดหนุน ช่วยเหลือด้านการจัดการเลี้ยงดู การตลาดและแหล่งทุน โดยให้คำแนะนำ อบรม ในการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อยกระดับและปรับระบบการเลี้ยงเข้าสู่มาตรฐาน GFM/GAP มีการอบรมเกษตรกร สนับสนุน อุดหนุน ปัจจัยการผลิตที่จำเป็น เช่น พันธุ์สัตว์ราคาถูก (ลูกสุกรขุน/แม่พันธุ์) โดยกรมปศุสัตว์และเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกร สนับสนุนการปรับปรุงฟาร์มภายใต้ระบบป้องกันภัยทางชีวภาพของฟาร์มเลี้ยงสุกรสู่ระบบการป้องกันโรค และการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management: GFM)

ภาพ : ฉัตรชัย  นวลปลอด / ข่าว : วรรณกร ชัยรัตน์ กลุ่มเผยแพร่ฯสลก.

ที่มา : https://dld.go.th/th/index.php/th/newsflash/director-news/24640-2022-02-28-09-12-05